วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ฤดูหนาวในรัสเซีย


คำว่าฤดูหนาว ภาษารัสเซียเข้าใช้คำว่า зима อ่านว่า zi-ma พอพูดถึงฤดูหนาวในรัสเซีย หลายคนอาจมีภาพประทับที่โหดร้ายจากชีวิตของผู้คนรัสเซียในฤดูหนาวของภาพยนตร์เรื่องดร.ชีวาโก แต่ความจริงไม่ใช่ค่ะ รัสเซียเป็นประเทศที่สวยอยู่แล้วในทุกฤดู และสวยเป็นอย่างยิ่งในฤดูหนาว ปุชกิ้นถึงพูดไว้ในบทกวีเรื่องหนึ่งว่า У природы нет плохой погоды “ธรรมชาติมีความงดงามอยู่ในตัวไม่ว่าจะฤดูใหนก็ตาม” ที่น่าสนใจคือ เราพบคำ зима นี้ในภาษาสันสกฤตด้วยเช่นกัน คือคำว่า ฌิมะ หรือ หิมะ เสียงอาจจะเพี้ยนไปนิด แต่มีความหมายเดียวกันคือ เหมันตฤดู ที่แปลว่าฤดูหนาวจากภาษาสันสกฤต แม้ว่าคนไทยจะใช้คำว่า หิมะ เรียกปุยน้ำแข็ง ซึ่งความหมายอาจจะเพี้ยนไปนิด แต่ก็เป็นที่เข้าใจว่า พูดในสิ่งเดียวกัน
ภาษารัสเซียไม่เพียงแต่ผูกพันกับภาษาสันสกฤตเท่านั้น แต่ยังรับเอาภาษาของประเทศต่างๆมาใช้อย่างแพร่หลายอีกด้วยค่ะ โดยเฉพาะ จากภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส เช่น คำว่า лето ที่แปลว่า ฤดูร้อน ก็มาจากคำภาษาฝรั่งเศส L’ete ในขณะที่ คำว่า холод ที่แปลว่า หนาวเย็น ก็มาจากภาษาอังกฤษคำว่า cold และที่รับเอามาใช้ตรงๆเลยก็เยอะมาก ในห้วงเวลาหนึ่งของสังคมรัสเซียหลังศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะในสมัยที่เรียกว่า Renaissance เป็นต้นมานั้น ฝรั่งเศสเป็นชาติที่มีเสน่ห์มากที่สุดของโลกค่ะ ทั้งจากปรัชญา วิถีการดำรงชีวิตของผู้คน ศิลปะ ดนตรี บทกวีและภาษา สังคมชนชั้นสูงของรัสเซียรับเอาคตินิยมแบบฝรั่งเศสมาใช้ในชีวิตประจำวันของชนชั้นตน ตั้งแต่ราชสำนักลงมาจนถึงขุนนางชั้นสูง ปัญญาชนและคหบดีผู้มั่งคั่ง พวกเขาพูดภาษาฝรั่งเศสกันเป็นภาษาหลักค่ะ น้องๆ กลับไปดูซิคะว่าปุชกิ้น กวีเอกรัสเซียแต่งกวีด้วยภาษาอะไร และปโยตร์ ไชคอฟสกี้ แต่งผลงานดนตรีคลาสสิคของตนด้วยภาษาอะไร ถ้าไม่ใช่ภาษาฝรั่งเศส ภาษารัสเซียใช้กันในหมู่ชนชั้นชาวนาและไพร่เท่านั้นค่ะ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเตรียมเสด็จเยือนรัสเซียในปีค.ศ. 1897 รัฐบาลสยามต้องใช้พระยาสุริยานุวัตร ราชทูตไทยประจำกรุงปารีสเป็นผู้ประสานงานการติดต่อกับราชสำนักรัสเซีย และเมื่อสยามตั้งสถานราชทูตที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อปีค.ศ. 1900 แล้ว เราต้องจ้างชาวฝรั่งเศสมาเป็นนักการทูตให้เราหลายคนเพื่อประโยชน์ในการสื่อสารกับรัฐบาลรัสเซียในสมัยนั้นไงล่ะคะ ครั้นเมื่อรัสเซียเริ่มเติบใหญ่เป็นชาติมหาอำนาจในช่วงศตวรรษที่ 19 กับเขาบ้าง คนรัสเซียก็เริ่มใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการมากขึ้น แต่ใช้ในแบบที่สังคมไทยนิยมสื่อสารกันอยู่ในเวลานี้ คือพูดไทยคำอังกฤษคำ คิดว่าชาวบ้านเขาจะรู้เรื่อง ก็เปล่า ยิ่งฝรั่งแล้ว ยิ่งไม่รู้เรื่องเข้าไปอีก คนรัสเซียก็เช่นเดียวกัน พูดรัสเซียคำฝรั่งเศสคำ ภาษารัสเซียจึงมีคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศสปนอยู่เยอะมาก รองลงมาเป็นภาษาอังกฤษ ยิ่งในปัจจุบันนี้ซึ่งอิทธิพลของระบบทุนนิยมที่ผ่านเข้าจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะ จาก สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ สาขาวิชาใหม่ๆที่เปิดสอนกันในมหาวิทยาลัยของรัสเซีย โดยเฉพาะ สาขาการจัดการ บริการธุรกิจ การเงินและคอมพิวเตอร์ ใช้คำภาษาอังกฤษทับศัพท์กันเกือบจะทั้งหมดเลยทีเดียว ครูนาตาชาเขียนถึงตรงนี้ ต้องการจะบอกน้องๆว่า แม้ภาษารัสเซียจะมีชื่อเสียงขจรขจายว่าเป็นภาษาที่ยากที่สุดของโลกรองจากจีนและอาหรับ ก็อาจไม่จริงเสมอไปค่ะ เพราะที่สาธยายมาทั้งหมดข้างต้นซึ่งเป็นข้อสังเกตจากประสบการณ์ของครูนั้น เพื่อจะบอกว่า ภาษานี้มีด้านที่ไม่ยากเหมือนกัน ถ้าน้องมีความรู้ภาษาฝรั่งเศสหรืออังกฤษเป็นพื้นมาก่อน แต่ถ้าใครมีไม่แข็งแรง ก็จงหาหนังสือภาษาอังกฤษมาอ่านเยอะๆ ให้เป็นนิสัย เมื่อใดที่ได้ศัพท์ภาษาอังกฤษ ก็จะได้ศัพท์ภาษารัสเซียส่วนหนึ่งด้วยโดยอาฟตามาติเชสกี้ค่ะ เห็นมั๊ย เชื่อหรือยังคะ

วันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2551




















ประเทศออสเตรีย

ออสเตรีย (Austria) (ภาษาเยอรมัน: Österreich, ภาษาโครเอเชีย: Austrija, ภาษาฮังการี: Ausztria, ภาษาสโลวีเนีย: Avstrija) มีชื่อประเทศอย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐออสเตรีย (Republic of Austria) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในยุโรปกลาง มีอาณาเขตทางเหนือจรดประเทศเยอรมนีและสาธารณรัฐเช็ก ทางตะวันออกจรดสโลวาเกียและฮังการี ทางใต้จรดสโลวีเนียและอิตาลี และทางตะวันตกจรดสวิตเซอร์แลนด์และลิกเตนสไตน์ มีการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนภายใต้หลักการของรัฐสภา


ประวัติศาสตร์
ก่อนปลายศตวรรษที่ 8 ดินแดนซึ่งเป็นประเทศออสเตรียในปัจจุบัน ได้มีชนชาติต่างๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ที่สำคัญได้แก่ ชนเผ่าเยอรมัน ซึ่งได้ข้ามแม่น้ำดานูบลงมาทางใต้ และชาวสลาฟซึ่งได้อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของออสเตรีย จนสิ้นสุดศตวรรษที่ 8 กษัตริย์ Charlemagne ได้ก่อตั้งเขตชายแดนระหว่างแม่น้ำอินส์ แรบ และดราวา เพื่อเป็นป้อมปราการป้องกันการรุกรานของชาวเอวาร์ และภายหลังจากที่ชาวโรมันได้อพยพออกไป นักบวชชาวไอริชและสก็อตจึงได้เข้ามาเผยแพร่คริสตศาสนาในดินแดนบริเวณเทือกเขาอัลไพน์แห่งนี้ ราชวงศ์บาเบินแบร์กของชาวรัฐบาวาเรียได้เข้าปกครองออสเตรียในปี ค.ศ. 976 ซึ่งยังมีประชาชนอยู่เพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษต่อๆ มา ราชวงศ์บาเบินแบร์กได้ใช้ยุทธศาสตร์สร้างความแข็งแกร่งให้แก่อาณาจักร และขยายประเทศไปอย่างกว้างขวาง ภายหลังจากที่ราชวงศ์บาเบินแบร์ก ได้หมดอำนาจลงในกลางศตวรรษที่ 13 ราชวงศ์ฮับส์บูร์กได้เข้ามามีอำนาจในดินแดนนี้แทน และขยายอาณาเขตออกไปจนถึงแถบประเทศสเปน จนกระทั่ง ในปี 1522 ราชวงศ์ฮับส์บูร์กจึงได้แตกออกเป็นสายออสเตรีย และสายสเปน อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์ Habsburg ยังคงขยายอาณาเขตต่อไป โดยในปี ค.ศ. 1526 ได้ผนวกดินแดนโบฮีเมียและฮังการี เข้าไว้ด้วย ทั้งนี้ ในช่วงศตวรรษที่ 16 และ 17 ออสเตรียต้องเผชิญหน้ากับอาณาจักรออตโตมัน แต่โดยที่ออสเตรียสามารถเอาชนะกองทัพของอาณาจักรออตโตมันได้ ออสเตรียจึงได้ครอบครองดินแดนเพิ่มขึ้น และกลายเป็นมหาอำนาจรายหนึ่งในยุโรป ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 จักรพรรดินีมาเรีย เทเรเซีย และโจเซฟที่สอง ได้ทำการปฏิรูป และวางรากฐานการปฏิรูปการบริหารจัดการของรัฐให้ทันสมัย แต่การปฏิวัติฝรั่งเศสและสงครามนโปเลียน ได้ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นเปลี่ยนไป นอกจากนี้ หลังจากที่อิตาลีได้ก่อตั้งขึ้นเป็นประเทศ ราชวงศ์ฮับสบรูกส์ต้องต้องยินยอมต่อการเคลื่อนไหวของนักชาตินิยมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และในปี ค.ศ . 1867 จักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ จึงได้ยอมตั้งราชวงศ์ร่วม (double monarchy) ออสเตรีย - ฮังการี ราชวงศ์ออสเตรีย - ฮังการี เป็นผู้เริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี ค.ศ. 1914-1918 อันมีสาเหตุเนื่องมากจากการลอบสังหารเจ้าชาย Francis-Ferdinand ซึ่งเป็นทายาทของราชวงศ์ออสเตรีย - ฮังการี โดยนักชาตินิยมชาวเซิร์บ โดยออสเตรียเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ออสเตรียจึงได้ประกาศตัวเป็นสาธารณรัฐ แต่ในขณะนั้น ออสเตรียมิได้มีอำนาจดังเช่นในอดีตแล้ว ในปี ค.ศ. 1938 ออสเตรียถูกกดดันจากเยอรมนีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ และประสบกับภาวะการขาดเสถียรภาพภายในประเทศในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่ง ในปี ค.ศ. 1945 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศพันธมิตรได้ช่วยออสเตรียให้ฟื้นตัวขึ้นสู่ความเป็นประเทศสาธารณรัฐอีกครั้ง แต่ออสเตรียยังคงถูกยึดครองโดยกองทัพฝรั่งเศส อังกฤษ สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกาจนถึงปี 1955 ซึ่งได้มีการลงนามในสนธิสัญญาประเทศออสเตรีย และในปีเดียวกัน รัฐสภาออสเตรียได้ออกกฎหมายให้ออสเตรียเป็นประเทศที่มีสถานะเป็นกลางอย่างถาวร รวมทั้งได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติด้วย ออสเตรียได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1995 และได้เป็นประธานสภาสหภาพยุโรปเป็นครั้งแรกในครึ่งหลังของปี ค.ศ. 1995

การแบ่งเขตการปกครอง
ออสเตรียเป็นประเทศสหพันธรัฐที่ประกอบด้วย 9 รัฐ (states - Bundesländer) รัฐเหล่านี้แบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น เขต (districts - Bezirke) และ นคร (cities - Statutarstädte) ซึ่งในเขตแต่ละแห่งยังแบ่งออกเป็นเทศบาล (municipalities- Gemeinden)
รัฐทั้ง 9 แห่งของออสเตรีย ได้แก่
1. รัฐบูร์เกนลันด์ (Burgenland) มีเมืองไอเซนชตัดท์ (Eisenstadt) เป็นเมืองหลวงของรัฐ
2. รัฐคารินเทีย หรือ แคร์นเทิน (Carinthia; Kärnten) มีเมืองคลาเกนฟูร์ท (Klagenfurt) เป็นเมืองหลวง
3. รัฐโลว์เออร์ออสเตรีย หรือ นีเดอเริสเทอร์ไรค์ (Lower Austria; Niederösterreich) มีเมืองซังคท์เพิลเทิน (St.Pölten) เป็นเมืองหลวง
4. รัฐอัปเปอร์ออสเตรีย หรือ โอเบอเริสเทอร์ไรค์ (Upper Austria; Oberösterreich) มีเมืองลินซ์ (Linz) เป็นเมืองหลวง
5. รัฐซาลซ์บูร์ก (Salzburg) มีเมืองซาลซ์บูร์ก เป็นเมืองหลวง
6. รัฐสติเรีย หรือ ชไตเออร์มาร์ค (Styria; Steiermark) มีเมืองกราซ (Graz) เป็นเมืองหลวง
7. รัฐทิโรล (Tirol) มีเมืองอินส์บรุค (Innsbruck) เป็นเมืองหลวง
8. รัฐโฟราร์ลแบร์ก (Vorarlberg) มีเมืองเบรเกนซ์ (Bregenz) เป็นเมืองหลวง
9. รัฐเวียนนา หรือ วีน (Vienna; Wien)

ประชากร
ประชากรหญิงออสเตรียมีอายุเฉลี่ย 82.1 ปี ส่วนประชากรชายออสเตรีย 76.4 ปี ในประเทศออสเตรียส่วนใหญ่ประชากรจะเป็นผู้สูงอายุ และเนื่องจากค่าครองชีพในประเทศออสเตรียอยู่ในอัตราสูงมาก จึงมีผลในการส่งผลให้อัตราการเกิดใหม่ของประชากรลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งอัตราการเกิดใหม่ของประชากรอยู่ที่ 0.45% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก

วัฒนธรรม
ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ 73.6 คริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ร้อยละ 4.7 มุสลิมร้อยละ 4.2 อื่นๆ ร้อย ละ 3.5 ไม่ระบุร้อยละ2 ไม่นับถือศาสนาร้อยละ 12